5 ประเด็นสำคัญที่เราจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับเว็บไซต์ของเรา

5 กรกฎาคม 2562
5 ประเด็นสำคัญที่เราจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับเว็บไซต์ของเรา



คุณรู้หรือไม่ว่า ข้อมูลทั้งหมดนั้นคุณสามารถหาได้จาก Google Analytics

การวัดวิเคราะห์คุณภาพของเว็บไซต์ของคุณเป็นเรื่องที่สำคัญสุดๆ ดังนั้นวันนี้ผมจึงอยากแนะนำเครื่องมือที่ชื่อว่า Google Analytics ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมที่สุด แถมยังใช้งานได้ “ฟรี” ข้อมูลก็มีความน่าเชื่อถือ และยังอัดแน่นไปด้วยสารพัดข้อมูลที่ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ของคุณ


แต่คุณรู้จักมันดีแค่ไหน… ใช้มันมากน้อยแค่ไหน?

แม้ว่าเว็บไซต์แทบทั้งหมดจะได้รับการติดตั้ง Google Analytics ไว้แล้ว (ถ้าไม่แน่ใจให้คุณลองตรวจสอบ 1*) แต่บ่อยครั้งที่ผู้บริหารธุรกิจ เจ้าของเว็บไซต์ส่วนใหญ่ มักจะละเลยเรื่องนี้ หรือไม่ก็ปล่อยให้ผู้จัดการฝ่ายไอทีเป็นคนดูแล และมักไม่ค่อยเข้าสู่ระบบ หรืออาจเข้ามาแล้วก็มองไปรอบๆ โดยไม่ทราบว่ามันคือข้อมูลอะไร และอาจจะไม่ได้สนใจว่า Google Analytics นั้นสามารถนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ในวางแผนการตลาดให้แก่เว็บไซต์และธุรกิจของตนเองได้เลยนะ


ผมมักให้คำแนะนำกับทีมนักสร้าง content สำหรับเว็บไซต์และบล็อกขององค์กรเสมอว่า พวกคุณจำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลจากเครื่องมือเช่น Google Analytics เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของผลงาน content ที่คุณสร้างมีคุณภาพที่ดีพอหรือไม่ กลยุทธ์สำหรับการนำเสนอ content ของคุณบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ซึ่ง Google Analytics สามารถให้คำตอบเหล่านั้นกับพวกคุณได้ แต่พวกคุณต้องรู้จักวิธีใช้มันและต้องรู้ด้วยว่าคุณต้องการอะไรจากมัน


ดังนั้นสิ่งที่คุณควรมองหาใน Google Analytics มีอะไรบ้าง มาเริ่มกันเลย

สิ่งแรกที่เราจะได้เห็นเมื่อเราเข้าสู่บัญชี Google Analytics ของเราคือจำนวนคนที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา นี่คือตัวเลขการรับส่งข้อมูลดิบ และ ณ ช่วงเวลาขณะหนึ่งที่พวกเราให้ความสนใจ แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด จริงๆ แล้วตัวเลขเหล่านี้แค่บอกแต่จำนวนรวม หรือสรุปว่าเป็นเรื่องที่สำคัญน้อยที่สุดใน Google Analytics ทั้งหมดก็ว่าได้

ต่อไปนี้เป็น 5 ประเด็นสำคัญที่คุณควรตระหนักและคำแนะนำทีละขั้นตอนในการเข้าไปถึงข้อมูลเหล่านั้นใน Google Analytics


# 1: แหล่งที่มาของการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราเกิดขึ้นมาจากที่ใดบ้าง

การจะรู้ว่ามีผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราจำนวนกี่คน และรู้ว่าพวกเขามาถึงเว็บไซต์ของเราได้อย่างไร สามารถดูได้จากเมนู ‘Acquisition > All Traffic > Channels.’


แหล่งที่มาของการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราเกิดขึ้นมาจากที่ใดบ้าง

ข้อมูลนี้จะให้มุมมองขั้นต้นของแหล่งที่มาขอการเข้าชมเว็บไซต์ของเรา แบ่งตามประเภทของช่องทาง คุณสามารถเห็นรายละเอียดทั้งจำนวนผู้เยี่ยมชมของแต่ละช่องทาง รวมถึงพฤติกรรมของผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ของแต่ละช่องทางด้วย เช่น บางช่องทางอาจพบว่ามีผู้เยี่ยมชมเป็นจำนวนมากแต่กลับมีการใช้งานบนเว็บไซต์ของเราเพียงเล็กน้อย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าช่องทางที่มีปริมาณผู้เยี่ยมชมเข้ามามากที่สุดย่อมเป็นช่องทางที่ดีที่สุด

สิ่งหนึ่งที่เราต้องใส่ใจมากๆ คือ อัตราส่วนของคนเข้ามาเว็บเราแล้วอยู่แค่หน้าเดียว (bounce rate) หากผู้เยี่ยมชมมาที่เว็บไซต์ของเราแล้วออกไปโดยไม่เข้าดูหน้าอื่นๆ เพิ่มเติม หรือเปิดหน้าเว็บนั้นทิ้งไว้เฉยๆ นานกว่า 30 นาทีโดยที่ไม่ทำอะไรเลย Google Analytics จะนับว่าเป็น bounce rate ดังนั้นเราจึงต้องการเห็นตัวเลข bounce rate นี้มีค่าต่ำที่สุด ส่วนจำนวนการเข้าชมหน้าเว็บและระยะเวลาเฉลี่ยของการเข้าชมจึงเป็นเมตริกที่มีประโยชน์มากสำหรับการวิเคราะห์คุณภาพเนื้อหา

หากเราต้องการดูรายละเอียดที่มากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับแหล่งที่มาของการเข้าชม เราสามารถดูที่เมนู ‘Acquisition > All Traffic > Referrals’ หน้าจอนี้จะแสดงหน้า Landing Page และเว็บไซต์ที่มีการเชื่อมโยงมายังเว็บไซต์ของเรา


การเข้าชมเว็บไซต์ผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social)

หนึ่งในช่องทางที่สำคัญที่พาผู้เยี่ยมชมมาสู่เว็บไซต์ของเรา ซึ่งจริงๆ แล้ว เราเองก็สามารถบริหารจัดการช่องทางนี้ได้อย่างง่ายๆ และตลอดเวลา ช่องทางที่ว่านั้นคือเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งเครื่องมือวิเคราะห์โซเชียลที่ Google Analytics ได้พัฒนาใหม่นี้ถือว่าทำได้ยอดเยี่ยมมากๆ เราสามารถดูรายงานเหล่านี้ได้ในเมนู ‘Acquisition > Social’

ภายใต้เมนู ‘Acquisition > Social > Network Referrals’ เราจะได้เห็นกราฟเปรียบเทียบการเชี่ยมชมรายวันที่มาจากเครือข่ายสังคมออนไลน์เทียบกับการเยี่ยมชมรายวันของทุกๆ ช่องทาง ส่วนเนื้อหาในตารางด้านล่างจะเป็นรายละเอียดของเครือข่ายสังคมออนไลน์แต่ละเครือข่ายที่ถูกแจกแจงทั้งจำนวนการเยี่ยมชม, จำนวนหน้าที่เข้าชม, และระยะเวลาที่อยู่ในเว็บไซต์ของเรา เป็นต้น


การเข้าชมเว็บไซต์ผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social)

จากตารางข้อมูลนี้ เรื่องที่เราควรต้องใส่ใจมากๆ คือ ‘ระยะเวลาเฉลี่ยต่อการเยี่ยมชม’ เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ใดบ้างที่มีอิทธิพลต่อเว็บไซต์ของเรา โดยดูจากจำนวนการเยี่ยมชม และ ‘จำนวนหน้าเฉลี่ยต่อครั้งที่เยี่ยมชม’ ดังนั้นเมื่อรู้แบบนี้แล้ว เราจึงควรนำข้อมูลที่ได้นี้ไปปรับให้เหมาะกับรูปแบบการแชร์เนื้อหาของเราบนสื่อโซเชียลมีเดียของเราต่อไป

แล้วหากเราต้องการรู้ข้อมูลว่า ผู้เยี่ยมชมที่มาจากช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้พวกเค้าสนใจเนื้อหาอะไรในเว็บไซต์ของเรากันบ้าง ก็ให้เราไปดูที่เมนู ‘Acquisition > Social > Landing Pages’ ก็จะเห็นว่ามีเนื้อหาหน้าใดบ้างที่ได้รับได้รับความนิยมแล้วยังความถูกใช้เป็นทางเข้าของผู้เยี่ยมชมจากช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียเหล่านี้ด้วย


ผู้เยี่ยมชมที่มาจากช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์


Follow-Up Questions : คำถามที่เราควรเอาไว้ถามตนเองเสมอๆ


ข้อมูลที่ได้เหล่านี้ควรถูกนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราคิดและวางแผนในการทำ PR เว็บไซต์ของเราหรือไม่?

เรามักชอบตั้งข้อสันนิษฐานว่าจะได้ผู้เยี่ยมชมมาจากช่องทางใด แต่เหนือสิ่งอื่นใด คุณภาพของการเข้าชมก็เป็นเรื่องสำคัญมากๆ เช่นกัน เพื่อให้เรารู้ประสิทธิภาพของช่องทางเหล่านั้นด้วย เราอาจต้องเผชิญกับข้อมูลที่ไม่ตรงกับสิ่งที่คิด ซึ่งเราไม่ควรปักใจเชื่อความคิดของตัวเองก่อนที่จะลงมือทำจนกว่าจะได้ข้อพิสูจน์


โอกาสที่ดีที่สุดของเราคืออะไร เมื่อเว็บไซต์ของเรามีปริมาณการเข้าชมที่เพิ่มขึ้น?

เป้าหมายสูงสุดของทุกเว็บไซต์ก็คือคาดหวังให้มีผู้เยี่ยมชมในจำนวนมากๆ ดังนั้นข้อมูลที่ได้นี้จะช่วยให้เราสามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนและใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงเนื้อหาตลอดจนช่องทางการทำ PR ให้เดินหน้าสู่เป้าหมายนั้นได้ เช่น หากรู้ว่า Facebook คือช่องทางหลักในการเชื่อมโยงผู้คนให้เข้ามายังเว็บไซต์ของเรา ซี่งเป็นผู้เยี่ยมชมที่มีคุณภาพด้วย กล่าวคือมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเว็บไซต์ เข้ามาเปิดอ่านข้อมูลครั้งละหลายๆ หน้า เราก็ควรที่จะเพิ่มความพยายามในการโพสต์เนื้อหาที่ผู้เยี่ยมชมชอบอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงหาทางที่จะเพิ่มจำนวนแฟนๆ ในหน้า Fanpage ของเราด้วย



# 2: ผู้เยี่ยมชมรายใหม่มายังเว็บไซต์ของเราได้อย่างไรและทำไมพวกเขาถึงออกจากเว็บไซต์ไปละ

องค์ประกอบที่สำคัญของเว็บไซต์ก็คือเนื้อหา ซึ่งนอกจากใช้ในการนำเสนอข้อมูลของเราแล้วยังทำหน้าที่เป็นประตูดึงดูดคนเข้ามาใช้งานเว็บไซต์ของเราด้วย (แต่นั่นหมายความว่าคุณต้องสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ บทความก็ต้องมีคุณภาพที่ดี และยังต้องวางโครงสร้างของข้อมูลในหน้าเว็บให้ถูกต้องตามหลักการทำ SEO ด้วยนะ) ดังนั้นหากต้องการรู้ว่าเนื้อหาประเภทใดที่คนสนใจและสามารถดึงดูดคนเข้ามายังเว็บไซต์ของเราได้ ต้องเข้าไปดูที่หัวข้อ Landing Page

เข้าไปที่เมนู ‘Behavior > Site Content > Landing Pages’ เราจะได้ข้อมูลของหน้าเว็บที่ได้รับความนิยมและถูกเชื่อมโยงมาจากเว็บไซต์ต่างๆ โดยนับรวมทุกเว็บไซต์ ที่สำคัญเราควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามิติของข้อมูลที่ถูกจัดเรียงไว้ในแต่ละแถวมีความสอดคล้องกับสิ่งที่เรากำลังมองหา เพื่อให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากที่สุดและไม่ทำให้เกิดความสับสน


ผู้เยี่ยมชมรายใหม่มายังเว็บไซต์ของเราได้อย่างไรและทำไมพวกเขาถึงออกจากเว็บไซต์ไปละ

เราควรตรวจสอบด้วยว่าผู้เยี่ยมชมมักออกจากเว็บไซต์ของเราจากที่ใด ซึ่งสามารถเข้าไปดูได้ที่เมนู ‘‘Behavior > Site Content > Exit Pages’


ตรวจสอบด้วยว่าผู้เยี่ยมชมมักออกจากเว็บไซต์ของเรา

หน้าสุดท้ายที่ผู้เยี่ยมชมใช้งานก่อนออกจากเว็บไซต์ของเรา (Exit Pages) คือข้อมูลที่ระบุว่าผู้เยี่ยมชมจะออกจากเว็บไซต์ของเราด้วยหน้าเว็บเหล่านั้นบ่อยเพียงใด การออกจากเว็บไซต์อาจสื่อความหมายได้ทั้งการออกจากเว็บของเราไปยังเว็บไซต์อื่นๆ และยังรวมถึงการที่ผู้เยี่ยมชมหยุดอยู่ที่หน้าดังกล่าวโดยไม่ได้ใช้งานอะไรในเว็บไซต์ของเราต่อจนเกิด session timeout (หากไม่มี action ใดๆ เป็นระยะเวลา 30 นาที Google Analytics จะถือว่า session นั้นหมดอายุ) หากเราเห็นว่าหน้า Landing Page มีความสำคัญมากต่อเว็บไซต์ แต่หากหน้าเว็บดังกล่าวกลับเป็นทางออกของผู้เยี่ยมชมจำนวนมากด้วยละ สิ่งนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณให้เราทราบว่าผู้เยี่ยมชมไม่พบในสิ่งที่พวกเค้าต้องการ และนี่อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าเรากำลังกำหนดเป้าหมายและตั้งชื่อหน้า (page title) ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือตรงกับเนื้อหาในหน้าเว็บ และอาจรวมถึงเนื้อหาอาจด้อยคุณภาพด้วย



Follow-Up Questions : คำถามที่เราควรเอาไว้ถามตนเองเสมอๆ


หัวข้อใดมีประสิทธิภาพดีที่สุดสำหรับผู้เยี่ยมชมของเรา

ด้วยการวิเคราะห์ว่าผู้คนเข้าและออกจากเว็บไซต์ของเราอย่างไร ทำให้เราทราบถึงแนวคิดที่ดีว่าผู้คนชื่นชอบเนื้อหาประเภทใดและมาจากที่ใด ตัวอย่างเช่นหน้า Landing Page ที่ดีมักแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่มีโดยดูได้จากแหล่งที่มาซึ่งมีทั้งเข้ามาจากเว็บไซต์ค้นหา (Organic Search) หรือจากสื่อโซเชียลมีเดีย จากการที่เราเข้าไปศึกษารายละเอียดของแต่ละหน้าโดยเลือกดูแหล่งที่มา (source) ของหน้าเว็บเหล่านี้ จะช่วยให้เราสามารถหาแนวคิดบางอย่างเกี่ยวกับการกำหนด keyword ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการตั้งชื่อหัวข้อ (page title) และกำหนดช่องทางในการประชาสัมพันธ์หน้าเว็บได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต

และอย่าลืมนำข้อมูลที่ได้นี้ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่เราได้จากประเด็น # 1 เรามีความคิดว่าเนื้อหาใดที่จะมีการแชร์บนสื่อโซเชียลมีเดีย สิ่งนั้นเปรียบเทียบกับเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจของผู้เยี่ยมชมของเราได้นานที่สุดหรือไม่


หน้า Landing Page เหล่านี้ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เยี่ยมชมกับเว็บไซต์ของเรามากพอหรือไม่

เมื่อเราสร้างหน้าใหม่ขึ้นมาในเว็บไซต์ทั้งที่เป็น landing page ที่สำคัญหรือจะเป็นหน้าเนื้อหาในส่วนอื่นๆ ก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่งคือการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของหน้าเว็บแต่ละหน้าเหล่านั้นให้ละเอียด เราไม่ควรมองแค่เรื่องจำนวนครั้งหรือความถี่ในการเยี่ยมชม แต่เราควรตรวจสอบด้วยว่าผู้ยี่ยมชมอยู่ในหน้าเหล่านี้นานแค่ไหน และพวกเค้าออกจากเว็บไซต์ของเราด้วยหน้าเหล่านั้นมากแค่ไหนด้วย



# 3: ผู้เยี่ยมชมได้รับประสบการณ์จากเว็บไซต์ของเราอย่างไรบ้าง

อย่าลืมว่า Google Analytics นั้นถูกติดตั้งในทุกหน้าของเว็บไซต์ของเรา ดังนั้นการจะดูว่าผู้เยี่ยมชมมีปฏิสัมพันธ์กับหัวข้อเมนูและเนื้อหาของเราอย่างไรบ้างนั้นถือว่าเป็นข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญมากๆ ที่เรานำข้อมูลจาก Google Analytics นี้มาศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมและประสบการณ์ของผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ เครื่องมือที่ว่านี้คือ Content Drilldown โดยสามารถไปที่เมนูู ‘Behavior > Site Content > Content Drilldown’

ข้อมูลนี้จะช่วยให้เราสามารถเห็นว่าเว็บไซต์ของเรามีหน้า Landing Page ที่สำคัญๆ หน้าอะไรบ้าง และหน้าเว็บเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ของเราอย่างไรบ้าง


ผู้เยี่ยมชมได้รับประสบการณ์จากเว็บไซต์ของเราอย่างไรบ้าง

จากตัวอย่างนี้เราจะเห็นว่าหน้านี้ได้มีการเข้าชมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากในเดือนล่าสุด นี่แสดงถึงสัญญาณที่ดีมากสำหรับการปรับปรุงคุณภาพของหน้า ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงชื่อเรื่องและเนื้อหาให้มี keyword ที่สัมพันธ์กันและเป็นข้อความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เยี่ยมชม เพราะจากการปรับปรุงบางอย่างที่เกิดขึ้นกับหน้าเว็บในช่วง 3 เดือนล่าสุด เราสามารถเห็นได้ว่า bounce rate ที่ต่ำลงมากซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการปรับปรุงคุณภาพของหน้าเว็บให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเรา

และหากเราต้องการศึกษาภาพรวมของวิธีการที่ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา เพื่อสำรวจพฤติกรรมของผู้เยี่ยมชมทั้งหมดซึ่งกราฟจะแสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่จะมา Landing Page ที่หน้าใดบ้างและจะใช้งานหน้าใดต่อไปบ้าง เราสามารถดูกราฟนี้ได้ที่ ‘Behavior > Site Content > Behavior Flow’


ภาพรวมของวิธีการที่ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์

โมเดลนี้จะแสดงรูปแบบการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งจากภายนอกและภายในเว็บไซต์ของเรา เริ่มจากแหล่งที่มาของผู้เยี่ยมชมมากที่สุด มายังหน้าเว็บที่ที่ถูกใช้งานบ่อยที่สุด แล้วพวกเค้ามักจะเข้าที่ไปยังหน้าใดภายในเว็บไซต์ของเราอีกบ้าง ตัวอย่างเช่นเราสามารถดูได้ว่าผู้เยี่ยมชมมาจาก Google Organic Search เข้ามาถึงส่วนที่เป็นข้อมูลของผลิตภัณฑ์เป็นส่วนแรกมากที่สุด และมักจะไปที่ส่วนบทความต่อ มันมีความสมเหตุสมผลและเป็นการแสดงรูปแบบข้อมูลที่มีประโยชน์มากซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพพฤติกรรมของผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

หากเราลองเจาะลึกเข้าไปใน Behavior Flow เราจะได้ข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับวิธีการที่ผู้เยี่ยมชมใช้งานและทำให้ทราบถึงเส้นทางประสบการณ์ที่พวกเค้าได้รับจากการใช้งานเนื้อหาส่วนต่างๆ ภายในเว็บไซต์ของเรา อย่าลืมคลิกดูที่รายละเอียดที่ถูกซ่อนไว้ใน Behavior Flow ด้วยนะครับ เนื่องจากมันเป็นเครื่องมือที่เราสามารถปรับแต่งรูปแบบและข้อมูลให้แสดงผลได้ตามที่เราต้องการอย่างสมบูรณ์


โปรดจำไว้ว่า เราเองต้องรู้จักการตั้งคำถามว่าเราอยากรู้พฤติกรรมของผู้ใช้แบบใด เพื่อวิเคราะห์เรื่องใด แล้วลองเลือกรูปแบบการตั้งค่าและการกำหนดขอบเขตของข้อมูลใหม่ รับรองว่าเครื่องมือนี้จะช่วยให้เราได้รับข้อมูลที่เกิดประโยชน์มากที่สุด



Follow-Up Questions : คำถามที่เราควรเอาไว้ถามตนเองเสมอๆ


ผู้เยี่ยมชมส่วนใหญ่มักเห็นอะไรเมื่อพวกเขาเข้ามายังเว็บไซต์ของเรา

ลองเสียเวลาซักนิดเพื่อทำการปรับแต่ง Behavior Flow ใหม่ให้เหมาะกับเว็บไซต์ของเรา เพื่อให้เห็นว่าผู้เยี่ยมชมเหล่านั้นได้รับประสบการณ์อย่างไร โดยปกติเรามักจะสร้างหน้าเว็บไซต์ขึ้นมาอย่างโดดๆ จนมักจะละเลยเรื่องการพิจารณาถึงการสร้างหน้าเว็บที่มีลำดับความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันหลายๆ หน้า รวมถึงเนื้อหาข้อมูลในหน้าที่มีอยู่แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้อ่านใช้งานหน้าเหล่านั้นเป็นกลุ่มหรือร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องราวละ ซึ่งนั่นอาจช่วยให้เราง่ายขึ้นในการค้นพบข้อผิดพลาดต่างๆ ที่ควรนำมาใช้เพื่อการปรับปรุงประสบการณ์ให้กับผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ทุกคนได้อย่างมากด้วยนะ


หน้าใดบ้างในเว็บของเราที่ผู้เยี่ยมชมไม่ได้เข้าดู

อาจมีบางหน้าที่สำคัญๆ ในเว็บไซต์ของเราที่ผู้เยี่ยมชมพลาดไป ทำไมนะหรือ นี่แหละจะเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มกำหนดแนวทางและจับคู่ให้กับข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์ของเรา เพื่อสร้างให้เกิดประสบการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้เยี่ยมชม



# 4: เว็บไซต์ของเราทำหน้าที่ได้ดีเพียงใด ในแง่ของการเชิญชวนให้ผู้เยี่ยมชม ดำเนินการบางอย่างตามที่เราต้องการ

ทุกหน้าในเว็บไซต์ของเราควรมีการกระตุ้นและเชิญชวนให้ผู้เยี่ยมชมได้พิจารณาตัดสินใจเลือกจะทำในสิ่งที่เราคาดหวังให้ด้วยเสมอ เราเรียกเครื่องมือนี้ว่า Call To Action ในข้อมูลของแต่ละหน้าเราคาดหวังให้ผู้เยี่ยมชมทำอะไรต่อไปละ เช่นอาจมีข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆ ให้กดเข้าไปอ่านต่อ หรืออาจเป็นการสมัครอีเมลเพื่อรับข่าวสารหรือการดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลเพื่อไปอ่านต่อได้ทั้งนั้น แต่จำไว้เสมอว่า หน้าเว็บไซต์แต่ละหน้าต้องมีเป้าหมายและวิธีการวัดความสำเร็จของตัวเอง และGoogle Analytics ก็รองรับเรื่องนี้ให้เราทำได้ง่ายๆ ด้วย


การตั้งค่า Goal ใน Google Analytics

สิ่งแรกที่เราต้องทำคือเข้าไปกำหนดเป้าหมายหรือ Goal ในบัญชี Google Analytics ของเรา ซึ่ง Google ก็มีคำอธิบายในเรื่องวิธีการและขั้นตอนการกำหนดค่า Goal ไว้อย่างชัดเจนมาก


Goals จะถูกกำหนดค่าภายใต้เมนู View การจะเข้าไปยัง View ให้เราไปคลิกที่เมนู Admin ที่อยู่ในแถบเมนูซ้ายทางด้านล่าง, จากนั้นเราจะเห็นว่ามีข้อมูลให้เลือกใช้งานอยู่ 3 คอลัมน์ได้ Account, Property, และ View. ให้คลิกเข้าไปที่ Goals ซึ่งอยู่ภายใต้คอลัมน์ View นี้, เมื่อเข้าไปแล้วให้เลือก New Goal เพื่อสร้าง Goal ใหม่

ให้เราทำตาม step ไปทีละขั้นตอนเพื่อกำหนดค่าเป้าหมายของเรา เมื่อทำแต่ละขั้นตอนเสร็จแล้วให้คลิกขั้นตอนถัดไปเพื่อทำการบันทึกและดำเนินการต่อ คลิกบันทึกเป้าหมายเพื่อเสร็จสิ้น หากต้องการออกจากกระบวนการโดยไม่บันทึกก็ให้คลิกที่ปุ่มยกเลิก


การตั้งค่า Goal ใน Google Analytics

การกำหนดค่าเป้าหมายต้องทำที่ระดับข้อมูลพร็อพเพอร์ตี้ เราจะกำหนดเป้าหมายได้หลายแบบ ได้ทั้ง หน้าเว็บหรือหน้าจอที่ผู้ใช้เยี่ยมชม, จำนวนหน้าเว็บ/หน้าจอที่ผู้ใช้ดูใน session หนึ่งๆ, ระยะเวลาที่ผู้ใช้อยู่ในเว็บไซต์ของเรา และเหตุการณ์ที่ผู้ใช้ทำให้เกิดขึ้นขณะอยู่ในเว็บไซต์ ทุกเป้าหมายสามารถตั้งมูลค่าให้มีหน่วยเป็นเงินได้ ทำให้เราเห็นได้ว่า Conversion นั้นๆ มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นที่เท่าไหร่ต่อธุรกิจ ซึ่งตรงจุดนี้เราสามารถนำไปวิเคราะห์และทำการกำหนดมูลค่าให้กับเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและช่วยให้เรามุ่งความสนใจไปที่ Conversion มูลค่าสูงสุดได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย เช่น ธุรกรรมใดที่มียอดรวมการซื้อถึงเกณฑ์ขั้นต่ำของเราบ้าง

เมื่อผู้เข้าชมเว็บไซต์ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เราระบุไว้ว่าเป็นเป้าหมาย Google Analytics จะทำการบันทึกกิจกรรมนั้นเป็น Conversion หลังจากนั้นข้อมูล Conversion ดังกล่าวก็จะใช้งานได้ในรายงานพิเศษหลายฉบับตามรายละเอียดดังที่แสดงด้านล่าง


ประเภทเป้าหมาย

ประเภทเป้าหมาย คำอธิบาย ตัวอย่าง
ปลายทาง การโหลดจุดที่ระบุ หน้าเว็บหรือหน้าจอแอป ขอบคุณสำหรับการลงทะเบียน
ระยะเวลา เซสชันที่ใช้เวลาถึงระยะเวลาที่กำหนด หรือนานกว่านั้น การใช้เวลาบนไซต์สนับสนุน 10 นาที ขึ้นไป
จำนวนหน้าเว็บ/หน้าจอต่อเซสชัน ผู้ใช้ดูหน้าเว็บหรือหน้าจอ เป็นจำนวนตามที่ระบุ มีการโหลดหน้าเว็บหรือหน้าจอ 5 หน้า
เหตุการณ์ มีการเรียกใช้การกระทำที่กำหนดไว้เป็นเหตุการณ์ การแนะนำทางโซเชียล การเล่นวิดีโอ การคลิกโฆษณา

เมื่อเราตั้งเป้าหมายเสร็จแล้วให้ไปที่ ‘Conversion> Goal> Overview’ เพื่อดูประสิทธิภาพของเป้าหมายแต่ละอันที่เรากำหนดค่าไว้ เรายังสามารถไปดูที่ ‘Conversion> Goal > Goal Flow’ เพื่อดูว่าเว็บไซต์และแหล่งที่มาของการเข้าชมจากภายนอกใดบ้างที่มีผลต่อการ Goal Conversion นี่เป็นหนึ่งในชาร์ตที่มีประโยชน์ที่สุดในส่วนของเป้าหมายเพราะมันแนบมูลค่าการแปลงที่แท้จริงไปยังแหล่งที่มาของการเข้าชมของเรา


แหล่งที่มาของการเข้าชมจากภายนอกใดบ้างที่มีผลต่อการ Goal Conversion

โอกาสที่ดีสำหรับเว็บไซต์และธุรกิจของเราคือการที่ผู้เข้าชมใช้งานเพียงไม่กี่หน้าก็สามารถกระโดดเข้ามายังหน้าเว็บที่ถูกเรากำหนดให้เป็นเป้าหมายได้ แม้ว่าขั้นตอนและวิธีการในการกำหนดค่า Goal และ Conversion นี้อาจยุ่งยากไปซักหน่อย แต่ก็คุ้มค่ามาก นี่คือสิ่งที่ Google ได้กล่าวเกี่ยวกับการตั้งค่าเป้าหมาย





Follow-Up Questions : คำถามที่เราควรเอาไว้ถามตนเองเสมอๆ


หน้าเว็บของเรามีการเชิญชวนให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์ดำเนินการในสิ่งที่เราคาดหวังไว้อย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง

มันจะดีกว่าไหมถ้าเราคิดวางแผนให้ทุกหน้าในเว็บไซต์ของเราเปรียบเหมือนซีรี่ย์ของ Landing pages ซึ่งมันจะสร้างประโยชน์มากกว่าเป็นเพียงแค่กลุ่มของเนื้อหาข้อมูล โดยหน้าที่ของเราคือการพยายามสร้างหน้าเว็บแต่ละหน้าให้มีเนื้อหาและข้อมูลที่สมบูรณ์แบบ แล้วลองเพิ่มจุดสนใจบางอย่างลงไปในหน้าเว็บแต่ละหน้าโดยที่มุ่งเน้นให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์ได้ตัดสินใจและดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมายที่เรากำหนดไว้ หากเราสามารถเลือกให้ผู้เยี่ยมชมทำอะไรให้แก่เราบางอย่าง...มันคือเรื่องอย่างไรละ จริงหรือไม่...ที่เรามักต้องการเลือกทุกอย่างเลยหรือไม่ก็พยายามเลือกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะขอได้ แต่การทำเช่นนั้นทำให้ไม่สามารถติดตามผลลัพธ์ของเราได้เลย ใช้เวลาซักนิดในการเลือกออกมาเรื่องหนึ่ง เอาเรื่องที่น่าจะมีโอกาสสำเร็จสูงสุดและมีคุณค่าต่อเว็บไซต์ของเราจริงๆ

เคล็ดลับ: Call to actions ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือแบบฟอร์มง่ายๆ เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมกรอกข้อมูลให้แก่เรา (ย้ำว่าง่ายๆ นะ)


Call to actions ของเราวัดผลได้หรือไม่

บางครั้งเรามักเห็นบางเว็บไซต์เลือกใช้วิธีการ Call to actions ที่ยากต่อการวัดผล เช่นการแชร์ข้อมูลของเราในสื่อโซเชียลมีเดีย (แม้ว่ามันอาจจะเป็นไปได้) หรือแสดงความคิดเห็นลงในบทความหรือหน้าเว็บไซต์ของเรา มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เกี่ยวกับเราจะต้องเลือกใช้ Call to actions (CTA) ที่ติดตามวัดผลได้ง่าย ยิ่ง CTA ทำได้ง่ายมากเท่าไหร่เราก็ยิ่งมีโอกาสติดตามวัดผลได้มากเท่านั้น



# 5: เว็บไซต์ของเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

นอกจากการให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าชมเว็บไซต์ของเราที่มากและหลากหลายมิติแล้ว Google Analytics ยังช่วยให้เราได้รู้เกี่ยวกับสุขภาพและประสิทธิภาพของเว็บไซต์ของเราด้วย ในการดูรายงานเรื่องนี้ให้เรามองไปที่ 3 เครื่องมือหลัก ในการแสดงข้อมูลให้เราเห็นว่าผู้เยี่ยมชมมีรูปแบบในการใช้งานเว็บไซต์ของเราอย่างไรและจุดใดบ้างที่พวกเขาคลิก ให้เราใช้บราวเซอร์ Chrome พร้อมทั้งติดตั้ง Extension ที่ชื่อ Page-Analytics Chrome extension แล้วเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์ของเราที่เราต้องการจะวิเคราะห์ ด้วยเครื่องมือนี้เราจะสามารถเห็นความสนใจต่างๆ ของผู้เยี่ยมชมจากความถี่ในการคลิกเมนูและเนื้อหาที่อยู่ด้านบนหน้าเว็บไซต์ของเรา นี่เป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินว่าการออกแบบ / เลย์เอาต์ของเว็บไซต์ของเรานำผู้ใช้ไปสู่การดำเนินการที่เหมาะสมตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่


เว็บไซต์ของเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

เราสามารถตรวจสอบความเร็วในการดาวน์โหลดของเว็บไซต์ของเราได้ที่ ‘Behavior > Site Speed’ หรือดูคำแนะนำเบื้องต้นได้ที่ ‘Behavior > Site Speed > Site Speed Suggestions’ อย่าลืมคลิกที่ข้อเสนอแนะเพื่อเข้าไปดูรายละเอียดที่ต้องเรียกว่า Wow จริงๆ ถึงตรงนี้จะมีผู้ดูแลเว็บไซต์หลายคนที่อาจไม่เคยรู้และกังวลเกี่ยวกับความเร็วของเว็บไซต์ของตนเองมาก่อนเลย แต่เราต้องไม่ลืมว่าความเร็วเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการจัดอันดับเว็บไซต์ใน Google นะ


ตรวจสอบความเร็วในการดาวน์โหลดของเว็บไซต์


Follow-Up Questions : คำถามที่เราควรเอาไว้ถามตนเองเสมอๆ


ผู้เยี่ยมชมส่วนใหญ่มักเห็นอะไรเมื่อพวกเขาเข้ามายังเว็บไซต์ของเรา เมนูและการนำทางในเว็บไซต์ของเราชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายหรือไม่?

เมนูและการนำทางของเว็บไซต์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้เยี่ยมชมใหม่เมื่อมาถึงเว็บไซต์ของเรา และเราก็มักจะกังวลเกี่ยวกับผู้เยี่ยมชมรายใหม่ที่เพิ่งเข้ามายังเว็บไซต์ว่าจะสามารถค้นหาการนำทางของเราเจอหรือไม่ แต่ก็อาจเกิดสถานการณ์ที่การนำทางของเรา (อาจอยู่ในรูปแบบของแบนเนอร์ / ปุ่มต่างๆ) จะไปทำให้ผู้ใช้ของเราเสียสมาธิจากสิ่งที่เราต้องการให้พวกเขาทำ เราจึงควรหาฮอตสปอตที่มีความผิดปกติ (อาจจะไม่มีผู้ใช้คลิกเลยหรือไม่ก็อาจโดนคลิกบ่อยเกินไปแทนที่จะคลิกที่ CTA ที่เรากำหนดไว้ในแต่ละหน้า) เพื่อตรวจสอบว่าผู้เข้าชมถูกนำทางอย่างไรเป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้หรือไม่ในหน้าเว็บแต่ละหน้าของเรา


ผู้ใช้มีการตอบสนองต่อการดาวน์โหลดหน้าเว็บที่ช้าอย่างไร

เราจำเป็นต้องให้ความสนใจกับวิธีการนำทางในหน้าเว็บของเรา ลองนึกภาพดูว่าจริงๆ แล้วเราจะมีความอดทนมากๆ และยินดีที่จะ ‘รอ’ เสมอหรือไม่? คำตอบคือน่าจะ ‘ไม่’ หากเว็บไซต์ไม่สามารถดาวน์โหลดให้เสร็จในเวลาไม่เกิน 2-3 วินาที เราก็คงจะรู้สึกหงุดหงิดและมีแนวโน้มว่าอยากจะออกจากเว็บไซต์เพื่อไปที่อื่นที่สามารถตอบสนองได้เร็วกว่าแล้วจริงไหม อย่าปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับเว็บไซต์ของเรา หากเราไม่มีเครื่องมืออื่นที่ใช้แล้วมีประสิทธิภาพมากกว่า Google Analytics แล้ว แนะนำให้ลองใช้ข้อมูลนี้จาก Google Analytics ในการศึกษาถึงแนวทางเบื้องต้นสำหรับการแก้ไของค์ประกอบในหน้าเว็บไซต์ของเราเพื่อปรับปรุงทั้งเรื่องความเร็วและประสิทธิภาพโดยรวมของหน้าเว็บไซต์นั้นๆ




จริงๆ แล้ว Google Analytics นั้นไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนมากอย่างที่เห็นในหน้าจอเลย พวกแผนภูมิ, ตาราง, และกราฟต่างๆ อาจจะดูเข้าใจยากอยู่บ้างแต่ก็เป็นเพียงแค่เรื่องที่เรายังไม่คุ้นชินกับมันเท่านั้น


โปรดจำไว้ว่า Google Analytics นั้นมีผู้ที่เข้าใจและพร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลือเราเสมอ เราสามารถศึกษาวิธีการใช้งานเครื่องมือต่างๆ ใน Google Analytics ได้โดยตรงจาก LearnWithGoogle Thailand หรือขอคำแนะนำจากทีมการตลาดของเราได้


*1 วิธีตรวจสอบว่าเว็บไซต์ของคุณติดตั้ง Google Analytics แล้วหรือไม่
https://support.google.com/analytics/answer/1032399?hl=th



« Back to Result