แม้ว่าหนึ่งในเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังฟินเทคและกำลังถูกจับตามองอย่างมากก็คงหนีไม่พ้น Blockchain (บล็อกเชน) หลายคนโดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่อาจคิดเพียงว่า Blockchain ก็คือเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับ Bitcoin Cryptocurrency ชื่อดังและตามมาอีกหลายสกุลเงินดิจิทัล แต่ ในมุมมองของ Techgnology Developer นั้นกลับมองว่าบล็อกเชนสามารถนำมาสร้างประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมอื่นได้อีกมากมาย จนคิดไปไกลถึงขั้นว่าจะกลายเป็นถนนเส้นใหม่ที่เชื่อมต่อโลกดิจิทัลไว้ด้วยกัน ในแบบที่ทุกคนบนโลกสามารถแชร์ข้อมูลกันไปมาหากันได้โดยไม่ต้องมีศูนย์กลางข้อมูลอีกต่อไป
Alex Tapscott กูรูเรื่อง Blockchain ผู้เขียนหนังสือ Blockchain Revolution
นายอเล็กซ์ แทปสก็อตต์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัทกองทุน นอร์ธเวสต์ พาสสาจ (Venture Capital) ที่ลงทุนในบล็อกเชน ตลอดระยะเวลา 7 ปี ในตลาดทุนแคนาดาและสหรัฐอเมริกา และนับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องบล็อกเชนที่ได้รับการยอมรับและถูกกล่าวถึงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย เขาเขียนหนังสือชื่อ “BLOCKCHAIN REVOLUTION: How the Technology Behind Bitcoin is Changing Money, Business, and the World” ร่วมกับ นายดอน แทปสก็อตต์ ซึ่งอธิบายไว้ว่า "บล็อกเชน" เป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยสำหรับข้อมูลที่เปิดเผยได้ โดยมีแนวคิดว่า การสร้างข้อมูลที่ทุกฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน จากนั้น นำข้อมูลบันทึกลงในกล่องสี่เหลี่ยมโดยมีข้อมูลเหมือนกันทุกกล่อง (Block) และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันแบบห่วงโซ่ (Chain) ทำให้บล็อกเชนไม่ต้องผ่านตัวกลางในการส่งข้อมูลอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่นปัจจุบัน เครื่องมือสื่อสารต้องเดินทางผ่านโอเปอเรเตอร์เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน ตอนนี้ก็เริ่มมีการพัฒนาการส่งข้อความตัวอักษรระหว่างเครื่องต่อเครื่อง (P2P : Peer to Peer) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดเครือข่ายใหม่ขึ้นในอนาคต แม้ว่าตอนนี้ยังทำได้แค่ตัวอักษรเท่านั้นก็ตาม
ความท้าทายของการนำบล็อกเชนไปใช้ยังไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โลกการเงินเท่านั้น การสร้างเอกสารเพื่อการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างในประเทศฮอนดูรัส ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งผู้ที่ครอบครองที่ดินกว่า 70% เข้าใจว่า ที่ดินเป็นของตนเอง และมีกรรมสิทธิ์อย่างแน่นอน แต่แล้วการถือครองที่ดินกลับมีการเปลี่ยนเจ้าของโดยที่ไม่รู้ตัว ทำให้ต้องถูกบังคับออกจากที่ดินอย่างไร้ข้อต่อสู้ ซึ่งแน่นอนว่า บล็อกเชนจะเข้าไปช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แก้ไขเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดิน ให้มีความถูกต้องมากขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามแนวคิดของบล็อกเชนที่ว่า ข้อมูลจะต้องมีความปลอดภัย มีการเผยแพร่ และบันทึกไว้ในทุกที่อย่างเป็นธรรม เพื่อป้องกันการปลอมแปลงโดยมิชอบนั่นเอง
ในอนาคตบริษัทที่จะเติบโตได้จะเป็นเพียงกลุ่มบริษัทที่สามารถรวบรวมสินค้า และบริการเข้ามาให้บริการแบบเป็นธรรม มีความน่าเชื่อถือ และท้ายที่สุดสามารถดำเนินการได้ตามสัญญาที่ตกลงไว้ ซึ่งจะสังเกตเห็นว่า บริษัทยุคใหม่เริ่มไม่มีสินค้าเป็นของตนเอง แต่จะมีการรวบรวมสินค้า และบริการนั้น ๆ ไว้ แล้วขายบริการนั้น ๆ โดยที่ไม่ต้องสต๊อกสินค้าแต่อย่างใด เช่น ผู้ให้บริการอูเบอร์ เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการรถขนส่งสาธารณะแบบตัวกลาง ซึ่งโดยตัวบริษัทเองไม่ได้มีรถไว้คอยให้บริการ แต่เป็นการรวบรวมผู้ขับ และรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ที่นำเสนอให้บริการโดยผู้ขับขี่เองมาให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น เทรนด์ของการทำธุรกิจเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกมากมายในอนาคต และท้ายที่สุด บล็อกเชนก็จะเข้าไปสอดแทรกการจัดการภายในเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และยุติธรรมมากกว่าที่แพลตฟอร์มใดเคยทำได้
การทำงานของ Blockchain
เมื่อมีการร้องขอให้ทำ transaction
Transaction ถูกแพร่ไปยังเครือข่าย
เครือข่ายตรวจสอบการทำธุรกรรมโดยใช้อัลกอริทึม
Transaction ถูกผนึกเข้ากับ transaction อื่นๆ
บล็อกใหม่จะถูกเพิ่มเข้าไปใน Blockchain อย่างโปร่งใสและจะแก้ไขอีกไม่ได้
เมื่อทำถูกต้องครบทุกขั้นตอนการทำธุรกรรมนั้นจึงจะสมบูรณ์
จึงกล่าวได้ว่า; การทำงานของ Blockchain คือ เมื่อเกิดการทำธุรกรรมต่างๆ ขึ้นในระบบ ข้อมูลจะถูกบันทึกแบบเข้ารหัสไว้เป็นบล็อกๆ และจะถูกเชื่อมโยงต่อๆ กัน โดยที่จะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในบล็อกใดๆ ได้เลย สาเหตุก็เพราะทุกคนต่างก็มีสำเนาหรือประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดอยู่กับตัว จึงเป็นเรื่องที่ยากหรือเป็นไปไม่ได้หากจะมีใครซักคนเข้ามาแก้ไขหรือปลอมแปลงข้อมูลโดยปราศจากการรับรู้จากคนส่วนใหญ่ในระบบ โดยระบบที่สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ทั้งหมดนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับเทคโนโลยี Blockchain นั่นเอง
ขอยกตัวอย่างเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากยิ่งขึ้น ในอดีตการทำธุรกรรมทางการเงิน จะต้องอาศัยตัวกลางในการยืนยันความถูกต้องของข้อมูล นั้นก็คือ “ธนาคาร” ในการทำธุรกรรมออนไลน์ ธนาคารก็จะเป็นผู้รับผิดชอบเก็บข้อมูลลูกค้า และตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างๆ (เป็นผู้ดูแลสัญญานั่นเอง) แต่ระบบ Blockchain คือ คู่ที่ทำธุรกรรมสามารถทำธุรกรรมกันเองได้โดยตรง ผ่านเทคโนโลยี Blockchain สัญญาที่แต่ก่อนธนาคารเป็นผู้ดูแลเพียงคนเดียว ก็จะเปลี่ยนเป็น สัญญาระหว่างคู่ค้าที่จะถูกถือไว้โดยทุกคนในระบบ เมื่อมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น ทุกคนที่อยู่ในระบบก็จะรับรู้ทันทีว่ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ตนถืออยู่ เช่น นาย A จ่ายเงินให้นาย B โดยมีนาย C เป็นผู้ดูแลสัญญา แต่ถ้าเป็น Blockchain ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินนี้จะมีข้อมูลของนาย A และนาย B เมื่อนาย A จ่ายเงินให้นาย B ทุกคนก็จะรับรู้ได้ทั่วกัน
ปัจจุบัน Blockchain ถูกนำไปประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ มากมาย
วันนี้คนส่วนใหญ่ต่างก็ทราบดีว่าเทคโนโลยี Blockchain นั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมายมหาศาลกับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือแม้แต่องค์กรขนาดใหญ่ ล้วนแล้วแต่สามารถนำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้งานกับองค์กรได้ทั้งสิ้น แต่ประเด็นสำคัญคือองค์กรควรจะใช้ Blockchain ประเภทใดจึงจะเหมาะสม และมีแนวทางที่จะช่วยองค์กรในการตัดสินใจเลือกประเภทของ Blockchain ได้อย่างไร วันนี้ผมขอใช้บทความนี้ขยายความให้แก่ทุกท่านทราบกัน
ปัจจุบันมีการแบ่งเทคโนโลยี Blockchain ออกเป็น 3 ประเภท นั้นคือ Public, Private, Consortium ซึ่งแต่ละประเภทก็มีเหมาะสมกับการใช้งานแตกต่างกันไป เนื้อหาต่อจากนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักเทคโนโลยี Blockchain กันมากขึ้นครับ
Public Blockchain
Blockchain ประเภทนี้ เรามักรู้จักกันดีในชื่อ Bitcoin กับ Ethereum ซึ่งเป็น Blockchain ที่ใช้งานจริงกับคนทั่วโลก ข้อดีของ Public Blockchain ประเภทนี้คือ ทางองค์กรไม่จำเป็นต้องลงทุนตอนเริ่มต้นในราคาสูง เช่น การนำเอา Ethereum มาใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการรับและส่งข้อมูล ท่านสามารถใช้เพื่อเก็บข้อมูลและเรียกขึ้นมาดูได้แบบออนไลน์ โดยที่ท่านไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่อง Server มาติดตั้งระบบเอง ท่านเพียงแค่จ่ายค่าการรับส่งและเก็บรักษาข้อมูลตามการใช้งานจริงเท่านั้นคล้ายๆ จ่ายค่าบริการแบบค่ามือถือชนิดเติมเงิน ใช้เท่าไรก็จ่ายเท่านั้น
สำหรับข้อดีของ Public Blockchain ยังมีอีกมากมาย เช่น การส่งข้อมูลไปให้หน่วยงานผู้รับปลายทางเราก็ไม่ต้องมาสร้างช่องทางส่งข้อมูลกัน หรือที่นิยมทำ Web Service API เพื่อให้ App คุยกัน องค์กรผู้ส่งข้อมูลเพียงแค่ใส่ข้อมูลลงไปใน Blockchain และจ่าหน้าซองถึงองค์กรผู้รับเท่านั้นผู้รับก็ได้รับข้อมูลไปโดยทันที แต่ข้อเสียของ Public Blockchain ก็มีเช่นกัน ข้อมูลที่เราใส่เข้าไปใน Public Blockchain นั้นจะกลายเป็นว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเปิดเผยแก่ทุกคนแบบสาธารณะ แปลว่าไม่มีอะไรเป็นความลับ หากต้องการความเป็นส่วนตัว องค์กรก็ต้องหาวิธีการใน การเข้ารหัสข้อมูลก่อนที่จะส่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้งานครับ
Private Blockchain
Blockchain ประเภทนี้เป็นการสร้างระบบ Blockchain เพื่อมาใช้กันภายในองค์กร หรือเป็นระบบปิด บล็อกเชนประเภทนี้จะมีการจำกัดการเข้าถึงข้อมูล ทำให้จะมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นซึ่งเป็นคนที่ได้ยืนยันตัวตนและตรวจสอบข้อมูลในระบบบล็อกเชนแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถใช้งานระบบได้ สำหรับองค์กรที่ต้องการรักษาความปลอดภัยข้อมูลในระดับสูง อาจจะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือด้วยกันเอง หรือระหว่างสำนักงานใหญ่กับสาขาเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลในระบบ Blockchain ประเภทนี้ได้ จึงเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับ Public Blockchain อย่างสิ้นเชิง Blockchain ประเภทนี้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการเปิดเผยข้อมูลที่องค์กรต้องประสบใน Public Blockchain ได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการที่องค์กรต้องลงทุนในการสร้างระบบ Infrastructure เพื่อรองรับการใช้งานภายในองค์กรเอง ซึ่งก็มีความท้าทายในการดูแลรักษา และจำนวนเงินไม่น้อยที่องค์กรจะต้องลงทุนอีกเช่นกันครับ
ข้อดีอีกข้อของ Private Blockchain คือการที่เราสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายใน Blockchain Network ของเราให้ทำงานได้ตามที่เราต้องการนั่นเอง เราไม่จำเป็นต้องออกแบบระบบให้เป็นไปตามกฎของโลกเหมือน Public Blockchain เช่น ถ้าออกแบบระบบโดยอ้างอิงอยู่บน Public Blockchain – Bitcoin เวลามีการส่งเงินนั้นเราก็ต้องออกแบบระบบให้มีการรอ Confirm ธุรกรรม 10-15 นาทีตามกฎของ Bitcoin แต่ในทางกลับกันหากองค์กรใช้ระบบประเภท Private Blockchain เราจะสามารถออกแบบให้การ Confirm ธุรกรรมแล้วเสร็จภายใน 1-2 วินาทีก็เป็นไปได้ หรือสามารถสร้างเงื่อนไขของสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) เพื่อการกำหนดกฎการทำธุรกรรมของกลุ่มกันเองและดำเนินการด้วยความเป็นอิสระ ในรูปแบบธุรกรรมอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูไปสู่การเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ อีกมากมาย
Consortium Blockchain
Blockchain ประเภทคือการรวมเอา 2 แนวคิดแรกเข้าด้วยกัน เป็นการผสมผสานระหว่างข้อดีของ Public Blockchain และ Private Blockchain เข้าด้วยกัน ซึ่งแนวคิด Consortium Blockchain นี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงสำหรับการนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรด้านการเงินในปัจจุบัน เนื่องจากองค์กรเหล่านี้มีการทำธุรกิจที่เหมือนกัน โดยปกติจะต้องเชื่อมโยงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอยู่แล้ว จึงสร้างเป็นเครือข่ายความร่วมมือและพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อใช้งานร่วมกัน เช่น Consortium Blockchain สำหรับธนาคาร ใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการโอนเงินระหว่างกันภายในสมาคมธนาคารด้วยกันเอง และธนาคารที่จะเข้ามาร่วมในเครือข่ายได้จะต้องได้รับอนุญาตจากตัวแทนของสมาคมเสียก่อนจึงจะมีสิทธิ์ใช้งานระบบร่วมกับธนาคารอื่นๆ ได้
ข้อดีของ Blockchain ประเภทนี้คือธนาคารไม่ต้องกลัวว่าข้อมูลสำคัญขององค์กรและลูกค้าจะรั่วไหลกลายเป็นข้อมูล Public และในเรื่องการลงทุนระบบ Infrastructure ก็ลดลงไม่เหมือนการสร้าง Private Blockchain ขึ้นมาใช้เฉพาะภายในองค์กรของตนเอง ซึ่งจะไม่ต่างอะไรกับการลงทุนทำระบบใหญ่ๆ ที่ต้องใช้งบประมาณสูงและเสียเวลามาก แต่ก็จำเป็นต้องแลกด้วยความไม่คล่องตัวในการปรับเปลี่ยนแก้ไขเงื่อนไขการใช้งานต่างๆ เพราะอาจจะต้องรอให้ผ่านมติความเห็นชอบจากสมาชิกส่วนใหญ่ในสมาคมเสียก่อน
รูปภาพอธิบายถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain กับระบบ Supply Chain
อีกหนึ่งบทบาทของ Blockchain คือการขับเคลื่อนด้วยคนส่วนใหญ่ (Consensus-Driven) เพราะทุกข้อมูลที่ปรากฏในบล็อกเชนจะต้องได้รับการยืนยัน เกิดเป็นการบันทึก มีการประทับตราเวลาไว้ ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ทำลาย หรือสร้างความเสียหายให้แก่ข้อมูลได้
รูปแบบนี้ทำให้ Blockchain เกิดข้อได้เปรียบสำคัญคือ เรื่องของความโปร่งใส ความปลอดภัย และความรวดเร็ว ทำให้หลายธุรกิจเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล กับการใช้บล็อกเชนเพื่อจัดการ บันทึกข้อมูลประวัติการรักษาของคนไข้ที่มีจำนวนมาก ในธุรกิจธนาคารใช้บล็อกเชนเพื่อยืนยันตัวตนแบบออนไลน์กับลูกค้าเวลาทำธุรกรรม จนถึงการใช้บล็อกเชนเพื่อวัดค่ามิเตอร์ไฟฟ้าเพื่อลดต้นทุนในการผลิตพลังงานได้
จากที่เล่ามาทั้งหมดจะเห็นว่า Blockchain ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ นะครับ Blockchain สามารถประยุกต์ไปใช้งานได้ในหลายรูปแบบด้วย อีกตัวอย่างเช่น บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง โตโยต้า ญี่ปุ่น ได้มีการทดลองใช้เทคโนโลยี Blockchain กับการบริหาร Supply Chain ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจสอบสถานะของชิ้นส่วนรถยนต์ตั้งแต่ตอนผลิต ออกจากโรงงานแล้วขนส่งข้ามประเทศ จนถึงมือของผู้บริโภค และช่วยในการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างรถยนต์กับอุปกรณ์พกพาของผู้ขับขี่ และเซ็นเซอร์ตรวจจับของระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมในเมืองหรือตามท้องถนน ทำให้การขับขี่หรือตรวจสอบเส้นทางทำได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ผู้อ่านท่านใดที่สนใจอยากทราบว่า มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจในประเทศไทยอย่างจริงจังแล้ว สามารถติดตามอ่าน เทคโนโลยี Blockchain กับการออมทอง ได้ครับ
และท่านใดสนใจต้องการปรึกษาเรื่องการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้ในธุรกิจของท่าน เรามีบริการแบบครบวงจรตั้งแต่การให้คำปรึกษา การวางกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอันทันสมัย มีทีมนักวิเคราะห์ธุรกิจ นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะช่วยให้โครงการของคุณประสบความสำเร็จ
เพียงแค่คุณติดต่อหาเราที่ 0 2946 3700 ในวันและเวลาทำการ เรายินดีให้บริการทุกท่านเสมอ